กำแพงภาษีรอบใหม่
(12/07/2018 - 09:55)
  • จีนมองว่าการที่ USTR ประกาศรายชื่อสินค้าที่ถูกตั้งกำแพงภาษีเพิ่มอีก US$2แสนล้านเป็นการ “เร่งเร้าสถานการณ์” ให้รุนแรงมากขึ้น
  • จากการวิเคราะห์เบื้องต้น เรามองว่าผลกระทบจากการตั้งกำแพงภาษี US$2 แสนล้าน ต่อเศรษฐกิจไทยน่าจะอยู่ในเชิงกลางๆ ถึงลบ
  • เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะกระทบกับค่าเงินใน emerging market 
  • ยังไม่มีสัญญาณจาก Fed ว่าจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย

 

ก้าวเข้าใกล้สงครามการค้าเข้าไปอีกหนึ่งก้าว

ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐ และจีนกลับมาเป็นที่น่าสนใจอีกครั้งหลังจากที่ USTR ประกาศรายชื่อสินค้าที่จะตั้งกำแพงภาษีเพิ่มเติมอีก US$2แสนล้านจากสินค้าที่นำเข้าจากจีน โดยจะมีการทบทวนกำแพงภาษีทุกๆ สองเดือน โดยจะมีการพิจารณาในวันที่ 22 – 23 สิงหาคม ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้สร้างความแปลกใจให้ตลาด เพราะ Trump ออกมาขู่จีนก่อนหน้านี้แล้วว่าจะตั้งกำแพงภาษีเพิ่มอีกหากจีนดำเนินมาตรการตอบโต้กำแพงภาษีของสหรัฐจำนวน US$5หมื่นล้านก่อนหน้านี้ เราคาดว่าตลาดจะ ‘รอดูสถานการณ์' เช่นเดียวกันกับตอนที่มีการประกาศกำแพงภาษีรอบแรกในเดือนมีนาคม ทั้งนี้เมื่อใกล้ถึงกำหนดวันที่จะมีผลบังคับใช้กำแพงภาษี แต่ยังไม่มีสัญญาณว่าทั้งสองฝ่ายจะบรรลุข้อตกลงระหว่างกันได้ ก็อาจจะทำให้ตลาดปั่นป่วนได้อีกเมื่อสถานการณ์ตึงเครียดทางการค้าส่อแววว่าจะลุกลามไปไกลเกินกว่าแค่ประเด็นการเมือง

 

นักเศรษฐศาสตร์ของกรุงศรีอาจปรับประมาณการ GDP ปี 19 จากสงครามการค้า

จากการวิเคราะห์ผลกระทบจากกำแพงภาษี จำนวน $5หมื่นล้านต่อเศรษฐกิจไทยโดยนักเศรษฐศาสตร์ของกรุงศรี พบว่ามีผลเป็นบวก (0.04% ของ GDP ดูรายละเอียดได้จากบทวิเคราะห์ สงครามการค้าเปิดฉาก...วิกฤตหรือโอกาสของไทย ออกเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม โดยคาดว่าประเทศไทยจะได้อานิสงส์จากการส่งออกสินค้าแทนสหรัฐ (เกษตร, เคมีภัณฑ์, อาหาร) และจีน (อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักร) จากการประเมินผลกระทบเบื้องต้นของกำแพงภาษีรอบล่าสุดนี้ เราคาดว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจะอยู่ในระดับปานกลางถึงลบ เนื่องจากจะส่งผลกระทบกับสินค้าส่วนใหญ่ในสายโซ่อุปทานของจีน โดยตลาดได้มีการปรับประมาณการกำไรของบริษัทในเกาหลีใต้ จีน และไต้หวัน (ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทส่งออกในดัชนี) จากการที่ความกังวลเรื่องสงครามการค้าทวีความรุนแรงมากขึ้น และเนื่องจากบริษัทส่งออกมีสัดส่วนใน SET ค่อนข้างน้อย ดังนั้น เรื่องสงครามการค้าจึงไม่น่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อบริษัทจดทะเบียนไทยในระยะสั้น แต่อย่างไรก็ตาม หากเกิดสงครามการค้าอย่างเต็มรูปแบบขึ้นจริงๆ เศรษฐกิจโลกก็จะชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ และ GDP ของประเทศในเอเซียอย่างประเทศไทยก็น่าจะหดตัวลง      

 

เป็นอีกปัจจัยที่กระทบกับค่าเงินใน emerging market

การเร่งเร้าสู่สงครามการค้าจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้น (เงินไหลไปหาสินทรัพย์ที่ปลอดภัย) และค่าเงินใน emerging market น่าจะอ่อนค่าลงอีกเนื่องจากมีการผูกอยู่กับสายโซ่อุปทานของจีนอย่างแนบแน่น และอ่อนไหวต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ดอลลาร์ที่แข็งขึ้นจะเป็นตัวกดดัน SET ต่อไป เนื่องจากต่างชาติน่าจะยังขายสุทธิต่อเนื่องในขณะที่ค่าเงินบาทที่อ่อนลงก็จะส่งผลดีต่อผู้ส่งออกของไทย โดยเรามองว่าภาวะตลาดของหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์น่าจะยังเป็นบวกอยู่

 

ยังไม่มีสัญญาณว่า Fed จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยออกไป

การตัดสินใจของ Fed ขึ้นกับข้อมูลเศรษฐกิจเป็นหลัก และจะรอผลของเศรษฐกิจสหรัฐก่อนที่จะตัดสินใจชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ถึงแม้ว่าผลกระทบในแง่ตัวเลขนั้นยังไม่ชัดเจน แต่บางบริษัทก็คาดว่าจะเลื่อนการลงทุนออกไป ในขณะที่ Harley Davidson ได้ประกาศออกมาแล้วว่าจะย้ายการผลิตออกไปยังต่างประเทศ เราเชื่อว่าเศรษฐกิจในสหรัฐจะยังคงเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง และนโยบายการคลังจะยังก่อให้เกิดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ดังนั้น Fed จึงไม่อยากหลุดอยู่หลัง curve และเราคาดว่าจะยังคงขึ้นดอกเบี้ยอีกสองครั้งในปีนี้ ยกเว้นสงครามการค้าจะทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมาก