UTILITIES SECTOR - หนึ่งในปัจจัยบวก ( NEUTRAL)
(26/07/2022 - 08:20)

กฟผ. แบกรับภาระ 8.3 หมื่นล้านบาทจากราคาก๊าซที่แพง โดย กฟผ. เสนอให้ปรับขึ้นค่า Ft อีก 2.122 บาท/kwh (เป็น 2.3697) เพื่อปลดภาระดังกล่าวออกไป เราคิดว่ากรณีศึกษาที่ 3 (ปรับขึ้นค่า Ft อีก 0.6866 บาท) มีโอกาสมากที่สุด ซึ่งจะได้ข้อสรุปภายในเดือนกรกฎาคม เราคาดว่า BGRIM และ GPSC จะได้อานิสงส์มากที่สุด แต่กำไร/margin จะยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤติพลังงานอย่างมาก

 

กฟผ. แบกรับภาระ 8.3 หมื่นล้านบาทจากราคาก๊าซที่แพง

วิกฤติพลังงานจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงแพงขึ้น และทำให้ ต้นทุนเชื้อเพลิงกับค่าไฟฟ้าที่คิดจากผู้ใช้ในภาคอุตสาหกรรมไม่สอดคล้องกัน โดย กกพ. ได้ปรับขึ้นค่า Ft อีก 0.1671 บาท/kwh (เป็น 0.0139) สำหรับช่วงเดือนม.ค.-เม.ย. 22 และปรับขึ้นอีก 0.2338 บาท/kwh (เป็น 0.2477) สำหรับช่วงเดือนพ.ค.-ส.ค. 22 แต่ไม่ทันกับราคาก๊าซที่พุ่งสูงขึ้น นอกจากนี้ อุปสงค์ที่ฟื้นตัวขึ้นจาก COVID-19 ทำให้ กฟผ. ต้องนำเข้า LNG ผ่านตลาด spot เพื่อชดเชยก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ลดลง ส่งผลให้ราคาก๊าซเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 235-315 บาท/mmbtu ในช่วงเดือนก.ย.-ธ.ค. 21 เป็น 384-450 บาท/mmbtu ในช่วงเดือนม.ค.-เม.ย. 22 เงินบาทที่อ่อนค่ายังดันให้ราคา LNG นำเข้าแพงขึ้นไปอีก ต้นทุนเชื้อเพลิงจึงเพิ่มขึ้นมากกว่าค่า Ft ในช่วงเดือนก.ย.-ธ.ค. 21 และ ม.ค.-เม.ย. 22 (ดู Exhibit 5) ทำให้ กฟผ. ต้องแบกรับภาระ 8.3 หมื่นล้านบาท หรือ 1.4354 บาท/kwh

 

กฟผ. เสนอให้ปรับขึ้นค่า Ft อีก 2.122 บาท/kwh (เป็น 2.3697) เพื่อปลดภาระ

ข้อเสนอของ กฟผ. ค่า Ft ในช่วงเดือนก.ย.-ธ.ค. 22 จะเพิ่มขึ้นอีก 2.122 บาท/kwh (เป็น 2.3697) ตามต้นทุนก๊าซที่เพิ่มขึ้น กกพ. คาดสัดส่วนของก๊าซจากอ่าวไทยจะลดลงเหลือ 39% ของปริมาณก๊าซทั้งหมดที่ใช้ในประเทศ และสัดส่วนก๊าซที่นำเข้าจากเมียนมาร์จะลดลงเหลือ 19% ในเดือนพ.ย. จาก 43% และ 22% ในเดือนมิ.ย. 22 ราคา LNG ในตลาด spot ที่อยู่ในระดับสูงที่ 900 บาท/mmbtu ทำให้ราคาก๊าซในช่วงเดือนก.ย.-ธ.ค. 22 เพิ่มขึ้นเป็น 420-487/mmbtu โดยค่า Ft ข้างต้นอิงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ 34.40 บาท/USD และเนื่องจากค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไปอีกเป็น 36.8 บาท/USD ในขณะที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังไม่มีทีท่าจะจบลง ราคา LNG จะยังสูงต่อตลอดปีนี้

 

กรณีศึกษาที่ 3 (ปรับขึ้นค่า Ft อีก 0.6866 บาท) มีโอกาสมากที่สุด

เราคิดว่า กกพ. ไม่น่าจะอนุมัติให้ขึ้นค่า Ft เต็มที่ 2.122 บาท/kwh เพราะจะทำให้ค่าไฟฟ้าที่คิดจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้นถึง 53% เป็น 6.15 บาท/kwh ทั้งนี้ กกพ. ได้จัดทำกรณีศึกษาของการปรับขึ้นค่า Ft สำหรับช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2022 เอาไว้สามกรณี (ดู Exhibit 6) โดยเป็นการศึกษากรณีการปรับค่า Ft ขึ้น 1.1436 บาท, 0.9151 บาท และ 0.6866 บาท ซึ่งหาก กกพ. ตัดสินใจขึ้นค่า Ft ตามกรณีศึกษา 1-3 จะทำให้ กฟผ. ต้องแบกรับภาระ 5.66 หมื่นล้านบาท, 6.98 หมื่นล้านบาท และ 8.30 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ (ดู Exhibit 7)

 

BGRIM และ GPSC ได้อานิสงส์ แต่กำไรยังต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤติพลังงาน

เราเชื่อว่า margin ของผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า SPP อย่างเช่น BGRIM และ GPSC จะเพิ่มขึ้นมากที่สุดจากการปรับขึ้นค่า Ft ใน 2H22 แต่ margin จะเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ และยังไม่พอที่จะชดเชยต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นได้ เนื่องจาก BGRIM และ GPSC ใช้ ก๊าซ 75% และ 51% ของกำลังการผลิตไฟฟ้า เราคาดว่าค่า Ft ที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 1 สตางค์ จะทำให้กำไรสุทธิของ BGRIM เพิ่มขึ้นปีละ 21 ล้านบาท และของ GPSC เพิ่มขึ้นปีละ 63 ล้านบาท เรายังคงคำแนะนำถือ BGRIM และ GPSC