ค่าเงินบาทจะไปทางไหนต่อ?
(30/09/2022 - 09:20)

เงินบาทอ่อนค่าลงประมาณ 5.5% จากต้นเดือนสิงหาคม และอ่อนค่าลง 12.3% จากต้นปีนี้เมื่อเทียบกับ USD ทำให้เกิดความกังวลในหมู่นักวิพากษ์เศรษฐกิจเกี่ยวกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ และความเหมาะสมของการกำหนดนโยบายการเงินของไทย อย่างไรก็ตาม เรามองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงการแข็งค่าของ USD จากการที่ Fed เร่งขึ้นดอกเบี้ยอย่างหนัก และมุมมองของนักลงทุนที่ค่อนไปทาง risk aversion เรามองว่า THB น่าจะอ่อนค่าลงอีกเมื่อเทียบกับ USD โดยอาจจะไปทดสอบระดับ 39 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ภายในช่วงกลาง 4Q22 ก่อนที่จะกลับทิศใน 1H23 เราไม่คิดว่าการอ่อนค่าของเงินบาทรอบนี้จะทำให้เกิดวิกฤติ เพราะเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ในขณะที่มองว่าสถานะภายนอกที่แข็งแกร่งของประเทศไทยจะช่วยซึมซับผลกระทบที่จะเกิดต่อเศรษฐกิจไทยได้

 

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของ USD แข็ง

เราคิดว่าไม่มีอะไรผิดปกติที่ THB อ่อนค่าลง เพราะยังคงเป็นการอ่อนค่าตามค่าเงินสกุลส่วนใหญ่ในโลก (-12.3% YTD และ -5.5% ตั้งแต่เดือนสิงหาคม) โดย USD แข็งค่าขึ้น 17% ตั้งแต่ต้นปีนี้ และยังแข็งค่าต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ตลาดคาดหวังสูงขึ้นมากกับการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐเมื่อเทียบกับในประเทศอื่น ๆ ในขณะเดียวกัน ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะหดตัวยังทำให้อุปสงค์สินทรัพย์ในสหรัฐเพิ่มขึ้นอีกด้วย เราคิดว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จะดำเนินต่อไปจนกว่าเงินเฟ้อในสหรัฐจะเริ่มแผ่วลง ซึ่งหมายความว่ายังมีช่องให้เงินบาทอ่อนค่าลงไปได้อีกในช่วงหลายเดือนต่อจากนี้ อย่างไรก็ตาม เราคาดว่าจะเห็นค่าเงินกลับทิศภายในสิ้นปีนี้ หรือต้นปีหน้า เนื่องจาก i) คาดว่าเงินเฟ้อของสหรัฐจะลดความร้อนแรงลง ii) USD แข็งค่าขึ้นไปอยู่ระดับที่สูงมากแล้ว โดย overvalue ไปอย่างน้อย 35% จาก PPP iii) รายได้จากดุลบริการของประเทศไทยมีแนวโน้มจะฟื้นตัวอย่างชัดเจนมากขึ้น และ iv) เศรษฐกิจของประเทศอื่น (นอกจากสหรัฐ) กลับมายืนได้อีกครั้ง

 

ประเทศไทยน่าจะผ่านพ้นไปได้โดยไม่บอบช้ำมากนัก

ประเทศไทยต่างจากประเทศอื่น ๆ ที่มีสถานะภายนอกอ่อนแอ ดังนั้น ประเทศไทยจึงน่าจะได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยจากการอ่อนค่าของเงินบาทในรอบนี้ เพราะแม้ว่าเงินบาทจะมีแนวโน้มอ่อนค่าลง แต่ประเทศไทยยังมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงถึงประมาณ US$1.95 แสนล้าน ซึ่งเทียบเท่ามูลค่าการนำเข้าถึง 10 เดือน ในขณะเดียวกัน ระดับหนี้ต่างประเทศของเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ที่ประมาณ 37% ของ GDP ซึ่งต่ำกว่าในอดีตอย่างมากจากที่เคยขึ้นไปสูงถึง 72% ในปี 2000 นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในเชิงของนโยบายการเงิน เราเชื่อว่า ธปท. บริหารนโยบายอย่างเหมาะสมแล้ว โดยเราไม่เห็นความจำเป็นที่ ธปท. จะต้องปรับโมเมนตัมนโยบายการเงินของไทยให้เท่ากับของ Fed เพื่อรักษาค่าเงิน ทั้งนี้ ในเชิงปัจจัยพื้นฐานแล้ว โครงสร้างเงินเฟ้อของไทย และสหรัฐมีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยเงินเฟ้อของสหรัฐมาจากฝั่งอุปสงค์ ในขณะที่เงินเฟ้อของไทยถูกขับเคลื่อนโดยราคาพลังงานเป็นหลัก ซึ่งหมายความว่าประเทศไทยต้องการนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นน้อยกว่าสหรัฐอย่างมาก ดังนั้น การกำหนดนโยบายการเงินของไทยจึงจะไม่ฉุดรั้งเศรษฐกิจมากเท่ากับประเทศที่เงินเฟ้อถูกขับเคลื่อนจากฝั่งอุปสงค์