INVESTMENT STRATEGY - ทุกคนกำลังเฝ้าจับตารายงานเงินเฟ้อฉบับหน้าของ US
(08/09/2022 - 08:00)

แม้ว่า Fed จะแสดงความเห็นออกมาในเชิง hawkish อย่างมากในการประชุม ประจำปีที่ Jackson Hole แต่ตลาดยังคงมุ่งความสนใจไปที่รายงานเงินเฟ้อฉบับหน้า ซึ่งอาจจะมีน้ำหนักกับการกำหนดท่าทีของ FOMC เราคิดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่เงินเฟ้อในเดือนต่อ ๆ ไป จะอยู่ที่ระดับปานกลางเนื่องจากแรงกดดันในห่วงโซ่อุปทานคลี่คลายลงไปอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน ราคาพลังงานและอาหารที่ลดลงก็จะช่วยลดแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อลงไปอีกทางหนึ่งด้วย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผู้เล่นในตลาด (และอาจรวมถึง Fed ด้วย) ต่างก็คาดหมายไปแล้วว่าเงินเฟ้อจะลดลง ดังนั้น ถ้าหากเงินเฟ้อเกิดลากยาวขึ้นมา อาจจะทำให้เกิดแรงเทขายรอบใหม่ออกมาในตลาดก็ได้ ซึ่ง ณ จุดนี้ เรามองว่าความเสี่ยงหลักได้แก่ ตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง, สถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ และนโยบาย zero covid ของจีน

 

แรงกดดันที่คลี่คลายลงไปในห่วงโซ่อุปทานจะช่วยดึงให้เงินเฟ้อแผ่วลง

ปัจจัยสำคัญที่ยังมีความไม่แน่นอนและมีผลต่อทิศทางของเงินเฟ้อได้แก่ 1) ความแข็งแกร่งของอุปสงค์ในประเทศ และ 2) แรงกดดันในห่วงโซ่อุปทาน เราคิดว่าตัวเลขเศรษฐกิจหลาย ๆ ตัวมีสัญญาณดี ไม่ว่าจะเป็น แรงกดดันของ Fed ต่อห่วงโซ่อุปทาน, ต้นทุนการขนส่งทางเรือ, ระยะเวลาการจัดส่งสินค้า, ดัชนี price paid index ฯลฯ ซึ่งลดลงอย่างมากในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา และจะส่งผลให้เงินเฟ้อกลับลงมาอยู่ระดับปานกลางในเดือนต่อ ๆ ไป ซึ่งจะทำให้ค่าจ้างที่แท้จริง (real wage) เพิ่มขึ้นและทำให้สภาวะของผู้บริโภคดีขึ้น ในขณะเดียวกัน เงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงยังจะช่วยลดความร้อนแรงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐซึ่งในปัจจุบันเร่งขึ้นมาแรงเกินไป (อัตราผลตอบแทน UST อายุ10 ปี อยู่ที่ 3.3%) นอกจากนี้ ต้นทุนทางการเงินที่ลดลงยังน่าจะจะช่วยกระตุ้นตลาดหุ้นได้อย่างมากอีกด้วย     

 

ยังต้องระวังความเสี่ยงที่เหลือด้วย

ในขณะที่เราคาดว่าเงินเฟ้อในเดือนต่อ ๆ ไป จะลดลง แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่อาจจะทำให้แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อกลับมาอีกครั้งได้ โดยปัจจัยที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือความแข็งแกร่งของตลาดแรงงาน เพราะแม้ว่าการจ้างงานในเดือนสิงหาคมจะเพิ่มขึ้นเพียง 3.7% แต่ตลาดการจ้างงานของสหรัฐยังคงร้อนแรงเพราะมีการจ้างงานเพิ่มอีกถึง 11.2 ล้านตำแหน่ง ซึ่งส่งผลให้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 7% และเป็นสัญญาณว่า Fed อาจจะยังคงต้องใช้นโยบายการเงินตึงตัวต่อไปเพื่อดึงเงินเฟ้อให้กลับลงมาหาเป้าหมายที่ 2% นอกจากนี้ ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ และนโยบายคุม COVID ของจีนก็ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะทำให้เงินเฟ้อกลับมาเร่งตัวขึ้นได้อีก