สุดท้ายทางรอดคือวัคซีน
(06/08/2021 - 08:15)

มีหลักฐานมากขึ้นที่บ่งชี้ว่า อัตราการฉีดวัคซีนมีผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและผลตอบแทนของสินทรัพย์เสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหมายความว่าตลาดหุ้นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มีความเสี่ยง เนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนที่ล่าช้า ในส่วนของประเทศไทย เราคาดว่าไทยจะยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจช้าที่สุด ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันอย่างหนักต่อสินทรัพย์เสี่ยงรวมถึงค่าเงินบาท และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวจะลดลงต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง    

ความเสี่ยงยังคงเพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำ

ในช่วงต้นของการฉีดวัคซีนทั่วโลก เราพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการฉีดกับการเติบโตของเศรษฐกิจหรือผลตอบแทนสินทรัพย์ยังไม่มีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์นี้ได้เปลี่ยนไปอย่างมาก เมื่อเราได้เห็นการเติบโตของเศรษฐกิจและผลตอบแทนสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงมีความแข็งแกร่งอย่างมากและในทางตรงกันข้าม การเติบโตของเศรษฐกิจและผลตอบแทนสินทรัพย์เสี่ยงอ่อนแอในกลุ่มประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำ ซึ่งสอดคล้องไปกับรายงาน Markit PMI ที่สะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว และลดลงอย่างต่อเนื่องในประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM)    

 

เป็นประเด็นที่น่ากังวลสำหรับประเทศไทย

แม้จะมีเสียงเรียกร้องให้มีนโยบายช่วยเหลือ แต่ธปท.ยังคงจุดยืนนโยบายเดิมไว้โดยมองกว่าการลดดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยมากนัก ธปท.ยังยืนยันว่านโยบายสนับสนุนทางการคลังและมาตรการบรรเทาหนี้จะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากกว่าในการรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างไรก็ตามการรายงานราคาผู้บริโภคล่าสุดสร้างความกังวลมากขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ โดยดัชนีราคาผุ้บริโภคทั่วไป (Headline CPI) ชะลอตัวลงสู่ 0.45% yoy ในก.ค. จาก 1.25% ในเดือนมิ.ย ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ชะลอตัวลงสู่ 0.14% yoy จาก 0.52% อัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายแท้จริงและผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10ปีแท้จริงสูงขึ้นและเป็นปัจจัยกดดันการเติบโต ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลแบนราบต่อ (Flattening) ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องที่คาดการณ์ไว้แล้วแต่ก็ยังน่ากังวลอย่างมาก มีเพียงการเร่งฉีดวัคซีนและ/หรือมาตรการกระตุ้นทางการคลังที่มีประสิทธิภาพเท่านั้นที่จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวในระยะต่อไป