July 3, 2020
(03/07/2020 - 08:15)

ตลาดหุ้นวานนี้

SET Index พุ่งแรง 25 จุด (+1.83%) ปิดที่ระดับ 1,374 จุด มูลค่าการซื้อขายหนาแน่น 8.4 หมื่นล้านบาท ดัชนีปรับขึ้นในทิศทางเดียวกันกับตลาดต่างประเทศ รับข่าวผลทดลองวัคซีนป้องกันไวรัส Covid-19 ของบริษัท Pfizer และ BioNtech ออกมาเป็นบวก นอกจากนี้ตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิตของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก (จีน ยูโรโซน และ สหรัฐ) ออกมาเพิ่มขึ้นในเดือน มิ.ย. ส่วนนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 614 ล้านบาท  และ Net Long TFEX SET50  5,612 สัญญา แต่ซื้อสุทธิในตลาดพันธบัตร 1,613 ล้านบาท

แนวโน้มตลาดหุ้นวันนี้     

เรามีมุมมองเป็นบวกคาด SET ปรับตัวขึ้นทดสอบ 1,385 – 1,390 จุด ตอบรับความคาดหวังเศรษฐกิจสหรัฐจะกลับมาขยายตัวได้ดีอีกครั้งหลังตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมิ.ย. พุ่งขึ้น 4.8 ล้านตำแหน่ง และอัตราการว่างงานเดือนมิ.ย.ลดลงสู่ระดับ 11.1% นอกจากนี้ยังได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวขึ้นหลังกลุ่มโอเปกปรับลดการส่งออกน้ำมันดิบในเดือนมิ.ย.ลง 1.84 ล้านบาร์เรล/วัน มาอยู่ที่ 17.2 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งเป็นบวกต่อกลุ่มพลังงานและทิศทางตลาด อย่างไรก็ตามควรระวังแรงขายที่จะสลับเข้ามาจากความกังวล Covid-19 จะแพร่ระบาดอีกครั้งหลังยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในสหรัฐยังคงพุ่งขึ้นต่อเนื่องอีก 5.7 หมื่นราย นอกจากนี้ Valuation SET ที่ตึงตัว P/E 19.5 เท่านั้นจะกดดันให้ดัชนีสลับอ่อนตัวลงได้

** วันนี้ 3 ก.ค. ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดทำการซื้อขายเนื่องในวันชาติสหรัฐ

กลยุทธ์การลงทุน: Selective Buy

  • กลุ่มพลังงาน (PTT, PTTEP, TOP, PTTGC, IRPC, SPRC, IVL) อานิสงส์ราคาน้ำมันดิบฟื้นตัวขึ้น
  • MINT, CENTEL, ERW, AOT, AAV อานิสงส์ครม.ออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ
  • กลุ่มที่คาดว่างบ 2Q20 จะเติบโตขึ้น (CKP, TASCO, STA)

หุ้นแนะนำวันนี้

  • SPRC (ปิด 7.05 ซื้อ/เป้า 8 บาท) คาดผลประกอบการ 2Q20 พลิกมีกำไรสุทธิ 3.5 พันล้านบาท เทียบกับที่ขาดทุนสุทธิ 8.3 พันล้านบาทใน 1Q10 จาก 1)คาดค่าการกลั่นเพิ่มขึ้นเป็น 4$/bbl จาก 1.3$/bbl ใน 1Q20 จากการลดการผลิตน้ำมันอากาศยานที่มาร์จิ้นต่ำและผลิตน้ำมันเบนซีนและดีเซลทดแทน และ 2)คาดมีกำไรจากสต๊อกน้ำมันดิบประมาณ 4.2 พันล้านบาทหลังจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกฟื้นตัวขึ้นจากระดับ 20$/bbl ใน 1Q20 เป็น 40$/bbl ใน 2Q20
  • MTC (ปิด 55 ซื้อ/เป้าสูงสุด IAA Consensus 69) ราคาหุ้นลดลงสะท้อนมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เฟส 2 ของแบงก์ชาติไปแล้ว ขณะที่ผลประกอบการของ MTC ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวในวงจำกัด เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ MTC คิดจากลูกอยู่ที่ระดับ 21% ซึ่งต่ำกว่าเพดานที่แบงก์ชาติกำหนดไว้ที่ 24% อยู่แล้ว ส่วนแผนขยายสาขายังคงเดิมที่ 600 สาขาต่อปี

บทวิเคราะห์วันนี้

AP (6.2 ซื้อ/เป้า 8.5), TTW (13.3 ซื้อ/เป้า 16.3)

ประเด็นสำคัญวันนี้

  • (+) ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐออกมาดีต่อเนื่อง ล่าสุดตัวเลขจ้างงานเดือน มิ.ย.เพิ่มขึ้น 4.8 ล้านตำแหน่ง ขณะที่อัตราการว่างงานลดลงเป็น 11.1%: กระทรวงแรงงานสหรัฐประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm payrolls) เดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้น 4.8 ล้านตำแหน่งในเดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากที่เพิ่มขึ้น 2.69 ล้านคนในเดือน พ.ค. และยังเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ Consensus คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 3 ล้านตำแหน่ง ส่งผลให้อัตราการว่างงานเดือน มิ.ย. ลดลงสู่ระดับ 11.1% จาก 13.3% ในเดือน พ.ค. ดีกว่าที่ Consensus คาดว่าจะอยู่ที่ 12.3% ตัวเลขการจ้างงานที่กลับมาเพิ่มขึ้นทำให้นักลงทุนเริ่มมั่นใจว่าเศรษฐกิจสหรัฐได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและน่าจะกลับมาฟื้นตัวในระยะเวลาอันใกล้
  • (+) กลุ่มน้ำมัน - ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับขึ้นเหนือระดับ 40$/bbl ได้อีกครั้ง รับข่าวตัวเลขการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และปริมาณการผลิตของ OPEC ลดลง: กลุ่มธุรกิจน้ำมัน โรงกลั่น และ ปิโตรฯ ยังได้ Sentiment บวกต่อเนื่องหลังจากที่เมื่อคืนราคาน้ำมันดิบ WTI สามารถกลับมาปิดเหนือระดับ 40$/bbl ได้อีกครั้ง โดยเพิ่มข้น 83 เซนต์ (+2.1%) ปิดที่ระดับ 40.65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยมีปัจจัยหนุนจาก 1) ยังตอบรับข่าว EIA รายงานสต๊อกน้ำมันดิบรายสัปดาห์ของสหรัฐลดลง 8.2 ล้านบาร์เรลมากกว่าที่ตลาดคาดว่าจะลดลง 2.7 ล้านบาร์เรล, 2) คาดหวังดีมานด์ฟื้นหลังสหรัฐรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm payrolls) เดือน มิ.ย.เพิ่มขึ้น 4.8 ล้านตำแหน่งมากกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3 ล้านตำแหน่ง และ 3) การผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC ลดลง ล่าสุด Kpler ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านข้อมูลพลังงานออกมาระบุว่ากลุ่ม OPEC มีการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบลดลงต่อเนื่อง โดยเดือน มิ.ย.กลุ่ม OPEC ส่งออกน้ำมัน 17.2 ล้านบาร์เรล ลดลง 1.84 ล้านบาร์เรล เมื่อเทียบจากเดือน พ.ค.
  • (+) กลุ่มค้าปลีก - ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 คาดประชาชนกล้าจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น: วานนี้ ม.หอการค้าฯ รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย.เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 49.2 จาก 48.2 ในเดือน พ.ค. นับเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 หลักๆ เป็นผลจากภาครัฐประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และ ออกมาตรการเยียวยาผลกระทบจากวิกฤติ Covid-19 ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว ความเชื่อมั่นของประชาชนที่เพิ่มขึ้นนับเป็น Sentiment บวกต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ และเป็นบวกโดยตรงต่อกลุ่มค้าปลีก เนื่องจากประชาชนจะกล้าออกมาจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้นช่วยหนุนให้ยอดขายของผู้ประกอบการทยอยฟื้นตัว